วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สมุนไพรไทย ใครควรกิน หรือไม่ควรกิน ตอนที่ 1

เนื่องจากวันนี้ สมุนไพรไทยหลายชนิดได้รับการวิจัยอย่างกว้างขวางทั้งระดับประเทศและระดับโลกว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งช่วยป้องกันและรักษาโรคบางชนิดให้หายเป็นปกติได้ จึงทำให้เรานิยมกินสมุนไพรกันมากขึ้นเพราะเชื่อในความปลอดภัย
            ถึงอย่างนั้นก็มีสมุนไพรไทยบางชนิดที่แม้ไม่มีงานวิจัยที่ได้มาตรฐานรับรอง แต่เราก็ยังนิยมใช้เพราะได้รับการยืนยันจากผู้ที่เคยใช้หรือผู้เชี่ยวชาญว่า มีประโยชน์ต่อสุขภาพจริงๆ
            สมุนไพรดังกล่าวจะเป็นประโยชน์จริงตามคำบอกเล่าหรือไม่ อีกทั้งมีข้อควรระวังในการใช้อย่างไร ใครควรกิน ไม่ควรกิน ตลอดจนวิธีกินให้ปลอดภัย ชีวจิตมีคำตอบมาบอกเล่าให้ได้รู้กัน

                   ย่านาง...สมุนไพรล้างพิษจริงหรือไม่
            ชั่วโมงนี้คงไม่ต้องอรรถาธิบายกระแสความแรงของย่านางกันให้ยืดยาว เพราะย่านางกลายเป็นสุดยอดสมุนไพรไทยที่ใครๆ ก็ต้องรู้จัก และมีการใช้อย่างกว้างขวาง มีการถ่ายทอดประสบการณ์การใช้ย่านางตามตามแนวธรรมชาติแบบปากต่อปากกันอย่างมากมาย
            สรรพคุณเอกที่เป็นที่กล่าวขาน คือ ใบย่านางมีฤทธิ์เย็น การกินใบย่านางจึงสามารถช่วยปรับสมดุล บำบัดและบรรเทาอาการอันเกิดจากภาวะความร้อนในร่างกายที่มีมากเกินได้ สมุนไพรชนิดนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้ในการป้องกันโรค ฟื้นฟูสุขภาพของคนในยุคสมัยนี้ ที่ร่างกายร้อนเกินไป จากปัญหาการกินผิดและมีความเครียดสูง จากสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป





เช็กงานวิจัยและการใช้จริง
          เริ่มต้นจากการตรวจสอบงานวิจัยของย่านางกันก่อน เภสัชกรหญิงผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรอธิบายว่า
            “มีงานวิจัยเรื่องย่านาง 4-5 เรื่อง ซึ่งทุกเรื่องเป็นการวิจัยในหลอดทดลอง ทั้งเพื่อหาสารสำคัญที่มีฤทธิ์ลดไข้ ลดการอักเสบ และลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ยังไม่มีการศึกษาในคน จึงไม่สามารถสรุปอะไรได้
            “ส่วนข้อบ่งชี้ว่า ย่านางมีสรรพคุณช่วยล้างพิษนั้น ยังไม่มีการทำงานวิจัยเลย ก็ไม่สามารถยืนยันในเชิงวิทยาศาสตร์ได้เช่นกัน
            แม้จะไม่มีงานวิจัยรับรองอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีผู้นำย่านางไปใช้เพื่อดูแลสุขภาพมาตั้งแต่สมัยโบราณ คุณหมอบุญยืน ผ่องแผ้ว คลินิกหนองบ่งการแพทย์แผนไทย จังหวัดลพบุรี อธิบายว่า
            “ย่านางเป็นไม้เถาขนาดกลาง เถามีความยาวประมาณ 15 เมตร มีรสขม แพทย์แผนไทยใช้รากย่านางเข้าเครื่องยาเบญจโลกวิเชียร’ หรือยาห้าราก มีสรรพคุณช่วยกระทุ้งพิษต่างๆ ถอนพิษยาเบื่อ ลดไข้ แก้ปวดหัว ใบมีสรรพคุณช่วยถอนพิษ ต้านอนุมูลอิสระต่างๆ
            ส่วนประสบการณ์ผู้นำย่านางไปใช้จริงนั้น มีทั้งเกิดผลดีต่อสุขภาพคือ ช่วยลดไข้ แต่ในบางกรณีก็เกิดผลข้างเคียง คุณผกากรองเล่าว่า
            “พบคนไข้คนหนึ่งกินน้ำคั้นใบย่านางติดต่อกันเป็นปี ทำให้มีอาการชาที่มือและเท้า แต่เมื่อให้หยุดกิน อาการชาก็หายเป็นปกติ
            นอกจากนี้คุณผกากรองยังพบคนไข้อีก 10 คน ที่มีอาการเวียนศีรษะ พอซักประวัติก็พบว่า ดื่มน้ำคั้นใบย่านางเป็นประจำและติดต่อเป็นเวลานาน เธอจึงแนะนำให้คนไข้หยุดดื่ม ซึ่งก็ทำให้อาการดังกล่าวค่อยๆ หายไป

เช็กสัญญาณเตือน ป่วยเพราะย่านาง
            คุณผกากรอง แนะนำว่า หากมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ให้หยุดกินย่านางทันที
มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก การขับถ่ายผิดปกติ เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ และหน้ามืดเวลาเปลี่ยนอิริยาบถ ชาตามปลายมือปลายเท้า ซึ่งถ้ามาถึงอาการชา แสดงว่ามีอาการมากแล้ว เป็นสัญญาณเตือนว่าควรหยุดใช้

ใครควรกิน ไม่ควรกิน
            สาเหตุที่การกินย่านางทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพนั้น คุณหมอบุญยืน อธิบายว่า
            ย่านางมีฤทธิ์เย็น การกินย่านางติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จะทำให้ร่างกายเย็น เลือดข้น เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้เกิดอาการมือชา แขนขาชา และปวดศีรษะได้
            โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนธาตุเย็นหรือผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ เลือดจาง และอ่อนเพลียง่าย ต้องระมัดระวังการกินเป็นอย่างมาก เพราะการกินเป็นเวลานานจะยิ่งทำให้เลือดไหลเวียนน้อยลง เลือดจางและอ่อนเพลียมากขึ้น
            ส่วนคนธาตุร้อน กินแล้วมีประโยชน์ เพราะช่วยลดความร้อนในตัวลง ลดความดันโลหิตได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องกินให้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นก็ทำให้เกิดผลเสียเหมือนกัน
            คุณหมอบุญยืนอธิบายวิธีสังเกตลักษณะธาตุในร่างกายว่า
            ธาตุในร่างกายแบ่งตามอุณหภูมิเป็น 2 ธาตุ คือ ร้อนและเย็น คนธาตุร้อนสังเกตง่ายๆว่าจะเป็นคนขี้ร้อน ทนอยู่ในที่อากาศร้อนแม้เพียงเล็กน้อยไม่ได้ มีอาการร้อนในและท้องผูกบ่อย ส่วนคนธาตุเย็นเป็นคนขี้หนาว อยู่ในห้องแอร์หรือถูกลมเย็นๆ ก็จะหนาวมาก ป่วยเป็นหวัดและภูมิแพ้ง่าย

ใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์
            หมอบุญยืนแนะนำวิธีใช้ย่านางดังนี้
-  ดื่มเพื่อล้างพิษ
ใช้ใบย่านาง 3 กำมือ ข้าวสาร 1 กำมือ ล้างใบย่านางและข้าวสารให้สะอาด นำตัวยาทั้งสองชนิดปั่นรวมกับน้ำสะอาดหนึ่งแก้วจนละเอียด กรองด้วยผ้าขาวบาง เอาเฉพาะน้ำคั้น สำหรับคนปกติ ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 1 ครั้ง ส่วนผู้ป่วยและผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ดื่มครั้งละ 1/2 แก้ว วันละ 1 ครั้ง ควรดื่มติดต่อกันทุกวันจนครบ 1 สัปดาห์ แล้วหยุด 1 สัปดาห์ สลับกันไปอย่างนี้
-  ดื่มแก้ไข้
สำหรับย่านางมีสารพฤกษเคมีชนิดละลายน้ำ ดังนั้น ถ้าเรามีไข้ สามารถกินย่านางชนิดสกัด
ด้วยน้ำได้ เพราะจะได้สารสำคัญที่ละลายน้ำออกมาและเป็นการใช้ตามภูมิปัญญาที่มีมานานแล้ว
-  กินเพื่อบำรุงสุขภาพ
ถ้ากินเพื่อสุขภาพ แนะนำให้กินทั้งใบ กินเป็นอาหารจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะจะได้สารแอนติออกซิเดนท์ แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามิน เกลือแร่ และใยอาหาร ไม่ต้องเสี่ยงกับอาการผิดปกติจากการกินน้ำคั้นสกัดเข้มข้นที่อาจทำให้ร่างกายเกิดความเย็นมากเกินไป


ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือชีวจิต ฉบับที่ 347 หน้า 28-30

36 ผักมีประโยชน์ต่อร่างกาย

ผักและสมุนไพรไทยต่างๆเหล่านี้มีประโยชน์มากมาย 

1. ใบโหระพา ( Sweet basil) น้ำมันหอมระเหยทำให้โล่งจมูก ช่วยระบายลม มีสารเบต้าแคโรทีน และแคลเซียม
2. คะน้า ( Chinese kale) มีแคลเซียม และสารต้านอนุมูลอิสระสูง ป้องกันโรคมะเร็ง และกระดูกพรุน 
3. ชะพลู (Cha-plu) รสชาติเผ็ดเล็กน้อย แก้จุกเสียด ขับเสมหะมีแคลเซียมสูง
4. แครอท ( Carrot) มีสารเบต้าแคโรทีน ป้องกันโรคมะเร็ง มีแคลเซียม แพคเตท ลดระดับคลอเลสเตอรอลในร่างกายได้
5. หอมหัวใหญ่ (Onion) มีสาร ฟลาโวนอยด์ ช่วยลดอาการของโรคหัวใจ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
6. ผักกาดขาว ( Chinese white cabbage) ช่วยระบบย่อยอาหารขับปัสสาวะ แก้ไอ มีโฟเลทสูงบำรุงคุณแม่ตั้งครรภ์
 7. พริก ( Chilli) มีแคปไซซิน กระตุ้นการ ขยายตัวของหลอดเลือด ช่วยให้เจริญอาหาร ขับเหงื่อ
8. กระเจี๊ยบเขียว(Okra) ลดความดันโลหิต บำรุงสมอง ลดอาการกระเพาะ หรือ ลำไส้อักเสบ
9. ผักกระเฉด ( Water mimosa) ดับพิษไข้ กากใยช่วยระบบขับของเสีย เพิ่มการเผาผลาญสารอาหาร
10. ตำลึง ( Ivy gourd) มีวิตามินเอสูง ดีต่อดวงตา เส้นใยจับไนเตรต ลดความเสี่ยง ในการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร
11. มะระ ( Chinese bitter cucumber) มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เป็นยาระบายอ่อน ๆ น้ำคั้นลดระดับน้ำตาล ในเลือด
12. ผักบุ้ง ( Water spinach) บรรเทาอาการร้อนใน มีวิตามินเอ บำรุงสายตา ธาตุเหล็กบำรุงเลือด
13. ขึ้นฉ่าย ( Celery) กลิ่นหอมช่วยเจริญ อาหาร มีวิตามินเอ บี และซี บำรุงสมอง ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด
14. เห็ด ( Mushroom) แคลอรีน้อย ไขมันต่ำ มีวิตามินดีสูงช่วยในการดูดซึม แคลเซียมเสริมกระดูกและฟัน
15. บัวบก ( Indian pennywort)มี วิตามินบีสูงช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายบำรุง สมองและความจำบำรุงผิวพรรณลดอาการ อักเสบ
16. กะเพรา ( Holy basil) แก้อาการ จุกเสียดแน่นท้อง มีเบต้าแคโรทีนสูง ป้องกันโรคมะเร็ง และโรคหัวใจขาดเลือดได้
 17. ต้นหอม ( Shallot) หอมระเหย บรรเทา อาการหวัด มีสารฟลาโวนอยด์ต้านมะเร็ง
 18. กุยช่าย ( Flowering chives) มีกากใยช่วยระบายของเสียมีธาตุเหล็กช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง
 19. หัวปลี ( Banana flower) รสฝาด แก้ร้อนใน กระหายน้ำ และบำรุงน้ำนม มีกากใย โปรตีน และวิตามินซีสูง
20. กระเทียม ( Garlic) ลดไขมันในเลือด ป้องกันหัวใจขาดเลือด ใบกระเทียมมีโฟเลท เหล็กวิตามินซีสูง
21. สะเดา ( Neem tree)มีเบต้าแคโรทีนสูง บำรุงสายตา เสริมระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้นอนหลับ
22. ขิง ( Ginger) บรรเทาอาการหวัดเย็น ลดอาการคัดจมูก รสเผ็ดร้อนแก้อาการ ท้องอืดท้องเฟ้อ
23. ข่า ( Galangal) น้ำมันหอมระเหย ช่วยระบบย่อยอาหารขับลมมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา
24. กระชาย ( Wild ginger) บรรเทา อาการท้องอืดท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ มีวิตามินเอ และแคลเซียม
25. ถั่วพู ( Winged bean) ให้คุณค่าทาง อาหารสูง มีโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และสารช่วยย่อยกรดไขมันอิ่มตัว
26. ดอกขจร ( Cowslip creeper) กระตุ้นให้รู้รสอาหาร ให้พลังงานสูง ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน
27. ถั่วฝักยาว ( Long bean) มีเส้นใย ช่วยลดคอเลสเตอรอล มีวิตามินซี ช่วยให้ ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็ก บำรุงเลือด
28. มะเขือเทศ ( Tomato) มีวิตามินเอสูง วิตามินซี รสเปรี้ยว ช่วยกระตุ้นน้ำย่อย และแก้อาการคอแห้ง
29. กะหล่ำปลี ( White cabbage) มีกลูโคซิโนเลท เมื่อแตกตัวจะเป็น สารต้านมะเร็ง และมีวิตามินซีสูง
30. มะเขือพวง (Plate brush eggplant) ช่วยให้เจริญอาหารและช่วยลด ความดันเลือด มีแคลเซียม และฟอสฟอรัส
31. ผักชี ( Chinese paraley) ขับลม บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร มีน้ำมันหอมระเหย แก้หวัด มีวิตามินเอและซีสูง
32. ชะอม ( Cha-om) ช่วยลดความร้อน ในร่างกาย ขับลมในลำไส้มีเส้นใยคอยจับอนุมูลอิสระ
33. ผักกาดหัว ( Chinese radish) แก้ไอ ขับเสมหะเพิ่มภูมิต้านทานโรค ตลอดจนมีสารช่วยให้กระเพาะอาหารและลำไส้บีบตัวได้ดี
34. สะระแหน่ (Kitchen mint) กลิ่นหอมเย็นของใบให้ความสดชื่น ทำให้ความคิดแจ่มใส แก้ปวดหัว
35. แมงลัก ( Hairy basil) ช่วยย่อย อาหาร ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน ขับลม ขับเหงื่อ
36. ดอกแค ( Sesbania) กินแก้ไข้ ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเป็นยาระบายอ่อน ๆ มีวิตามินเอสูง บำรุงสายตา


วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

8 สมุนไพร ช่วยสิวหาย...ชัวร์

สมุนไพรไทยรักษาสิว

วิธีรักษาสิวโดยใช้สมุนไพรไทยๆ ที่เราสามารถใช้รักษาได้ด้วยตนเอง โดยแบ่งกลุ่มตามคุณสมบัติ ดังนี้
1. คุณสมบัติช่วยผลัดเซลล์ผิวหนังเก่าให้หลุดลอกออกไป
ผลสำหรับการรักษาสิว คือ ทำให้การอุดตันลดลง ช่วยเปิดรูขุมขน และยังส่งผลให้การอักเสบลดลง สิวหัวแดง หัวหนองจะแห้งลง ซึ่งสมุนไพรที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวเพื่อการรักษาสิว ได้แก่
-   ไพล  นำไพลผงมาละลายน้ำเล็กน้อย แล้วทาบริเวณที่เป็นสิว จะช่วยทำให้สิวแห้ง
-  ทองพันชั่ง นำทองพันชั่งมาคั้นเอาแต่น้ำ เอาน้ำคั้นที่ได้ทาหัวสิว
-  ใบเสลดพังพอน นำใบเสลดพังพอนมาคั้นน้ำเอาแต่น้ำที่คั้นได้ทาหัวสิว
-  ขมิ้นชัน ผสมขมิ้นชันผล 1 ช้อนชา ปูนแดง 1 ช้อนชา และน้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ เข้าด้วยกัน แล้วนำส่วนผสมที่ได้มาทาสิวได้ผลดีมาก
-  น้ำมะนาว ทาน้ำมะนาวบริเวณที่เป็นสิวทิ้งไว้ 10 นาที ถ้ารู้สึกแสบให้รีบล้างออกทันที ถ้าไม่แสบสามารถเพิ่มเวลาให้นานขึ้นได้ในการทำครั้งต่อๆไป

2.  คุณสมบัติช่วยลดการอักเสบของผิวหนังและช่วยฆ่าเชื้อสิว ทำให้สิวหัวหนองลดการอักเสบได้
-  หอมเล็ก นำหอมเล็กมาคั้นน้ำ นำน้ำคั้นที่ได้มาทาบริเวณที่เป็นสิว จะทำให้สิวแห้งและลดการอักเสบได้
-  ว่านหางจระเข้ ปอกเปลือกว่านหางจระเข้ นำวุ้นที่ได้มาล้างให้สะอาด แล้วบดละเอียด ก่อนนำมาทาหัวสิว จะช่วยลดการอักเสบและอาการผิวแห้งที่อาจเกิดจากการรักษาสิวได้อีกด้วย
-   เปลือกมังคุดแห้ง นำเปลือกมังคุดแห้งมาต้มกับน้ำ เอาน้ำต้มที่ได้ทาบริเวณที่เป็นสิวหรือเอามาทาทั่วใบหน้า ทิ้งไว้ 20 – 30 นาที แล้วล้างออก ทำวันละครั้ง


ที่สำคัญ ไม่ควรบีบ แกะสิว เพราะจะยิ่งทำให้อักเสบและเกิดรอยดำมากขึ้น นอกจากนี้ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะส่งผลให้สิวมีอาการดีขึ้นอีกทางหนึ่ง

คุณประโยชน์อื่นๆของขิง

ขิงส่วนที่เป็นเหง้า โดยเฉพาะเหง้าแก่จะมีน้ำมันหอมระเหยชนิดต่างๆ ร้อยละ 1-3 อาทิเช่น Gingerol , Zingiberol , Citra , Zingirol ทำให้ขิงมีกลิ่นหอม ช่วยเจริญอาหาร เสริมสมรรถภาพทางเพศ และมีน้ำมันชัน (oleoresin) ร้อยละ 5-8 มากกว่าเหง้าขิงอ่อน สารชนิดนี้ทำให้ขิงมีกลิ่นฉุน และรสเผ็ดด้วยสาร 6-shogaol และ 6-gingrol เป็นสารที่ไม่ระเหย ทำให้ร่างการอบอุ่น ใช้ขับเหงื่อ ขับลม บรรเทาอาการจุกเสียด แน่นเฟ้อ รักษานิ่ว ช่วยย่อยอาหารจำพวกไขมัน ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลง โดยการบุบขิงแก่ต้มน้ำพอท่วมให้เดือด 2 นาที แล้วดื่ม หรือใช้ขิงผงบรรจุซองก็สะดวกมากเอาชงกับน้ำร้อนสัก 5 นาที ก็ดื่มได้ผลดี

เหง้าขิงตำคั้นเอาน้ำผสมน้ำมะนาวแล้วจิบบ่อยๆ แก้ไอได้ผลดีทีเดียว ชงน้ำดื่มแก้คลื่นไส้อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์และในคนทั่วไป มีการสกัดเอาไปเป็นส่วนผสมในยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ยาแก้เมารถ เมาเรือ หรือยาขัดฟัน

น้ำสกัดจากขิงที่เข้มข้นมากจะออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ ในขณะที่ดื่มในปริมาณพอเหมาะจะทำให้การบีบตัวของลำไส้ดี ขับลมและช่วยย่อยอาหาร

จาก หนังสือผักพื้นบ้านไทยสมุนไพรต้านโรค ,  ผู้เขียน :ชิดชนก

ขิง สมุนไพรบำรุงหลังคลอด ตำรับชาวมาเลเซีย

ขิงเป็นพืชสมุนไพรที่คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้กันอย่างแพร่หลาย ปลูกง่าย พบเห็นได้เสมอในสวนครัวหลังบ้านตามชนบท นิยมนำมาปรุงอาหารเพื่อช่วยเพิ่มความหอมและดับกลิ่นคาวจากเนื้อปลา

นอกจากนี้ชาวมาเลเซียยังนำขิงมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคต่างๆอีกด้วย

ขิงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber officinale Roscoe  อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae เป็นไม้ล้มลุก สูง 0.30 – 1 เมตร มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวลแกมเขียว มีกลิ่นเฉพาะใบเดี่ยวเรียงสลับ มีดอกเป็นช่อแทงออกจากเหง้า กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว

เหง้าขิงมีกลิ่นฉุน พบสาระสำคัญในน้ำมันหอมระเหยมากกว่า 50 ชนิด ซึ่งช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อระบบทางเดินอาหาร ช่วยขับลม ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ

งานวิจัยเรื่อง Medicinal Plants used for Postnatal Care in Malay Traditional Medicine in the Peninsular Malaysia ซึ่งตีพิมพ์ใน Pharmagocnosy Journal โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จาเมีย อาซดิน่า จามาล (Associate Professor Dr.Jamia Azdina Jamal) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแบงซาน ประเทศมาเลเซีย ให้ข้อมูลว่า

ชาวมาเลเซียมีตำรับสมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพผู้หญิงหลังคลอดหลายสูตร เช่น การนำขิงมาต้มเพื่อเป็นน้ำอาบหรือแมนเดียน (Mandian) มีสรรพคุณลดอาการปวดเมื่อย สร้างความสดชื่น กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส ซึ่งจะทำหลังการประคบร้อนและพอกสมุนไพรบดหรือจามุ (Jamu) แล้ว

ข้อมูลจากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุถึงวิธีการนำขิงมาใช้ดังนี้ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ทุบขิงแก่ให้แตก ต้มกับน้ำครึ่งถ้วย เทน้ำผึ้ง 30 กรัม (6 ช้อนชา) ลงไปผสม ดื่มขณะยังอุ่น

รักษาแผล บรรเทาอาการปวดเกร็งและยับยั้งกรดในกระเพาะอาหาร กินแคปซูลขิง วันละ 2 – 4 กรัม

บรรเทาอาการนอนไม่หลับ ลดไข้ ทุบขิงแก่ขนาดหัวแม่มือ (ประมาณ 5 กรัม) พอแตก ต้มกับน้ำ 1 ถ้วย ดื่มก่อนเข้านอนประมาณครึ่งชั่วโมง

นับเป็นอีกหนึ่งพืชสารพัดประโยชน์ นำมารักษาโรคก็ได้ ใช้ปรุงอาหารก็ดี คนรักสุขภาพทั้งหลายลองหาขิงมาปลูกไว้ใช้เองในบ้าน น่าจะช่วยประหยัดสตางค์ไปได้อีกโข 

จาก นิตยสารชีวจิต รายปักษ์ ปีที่ 16 : 1 กรกฎาคม 2557 หน้า 26