วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สมุนไพรไทย ใครควรกิน หรือไม่ควรกิน ตอนที่ 1

เนื่องจากวันนี้ สมุนไพรไทยหลายชนิดได้รับการวิจัยอย่างกว้างขวางทั้งระดับประเทศและระดับโลกว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งช่วยป้องกันและรักษาโรคบางชนิดให้หายเป็นปกติได้ จึงทำให้เรานิยมกินสมุนไพรกันมากขึ้นเพราะเชื่อในความปลอดภัย
            ถึงอย่างนั้นก็มีสมุนไพรไทยบางชนิดที่แม้ไม่มีงานวิจัยที่ได้มาตรฐานรับรอง แต่เราก็ยังนิยมใช้เพราะได้รับการยืนยันจากผู้ที่เคยใช้หรือผู้เชี่ยวชาญว่า มีประโยชน์ต่อสุขภาพจริงๆ
            สมุนไพรดังกล่าวจะเป็นประโยชน์จริงตามคำบอกเล่าหรือไม่ อีกทั้งมีข้อควรระวังในการใช้อย่างไร ใครควรกิน ไม่ควรกิน ตลอดจนวิธีกินให้ปลอดภัย ชีวจิตมีคำตอบมาบอกเล่าให้ได้รู้กัน

                   ย่านาง...สมุนไพรล้างพิษจริงหรือไม่
            ชั่วโมงนี้คงไม่ต้องอรรถาธิบายกระแสความแรงของย่านางกันให้ยืดยาว เพราะย่านางกลายเป็นสุดยอดสมุนไพรไทยที่ใครๆ ก็ต้องรู้จัก และมีการใช้อย่างกว้างขวาง มีการถ่ายทอดประสบการณ์การใช้ย่านางตามตามแนวธรรมชาติแบบปากต่อปากกันอย่างมากมาย
            สรรพคุณเอกที่เป็นที่กล่าวขาน คือ ใบย่านางมีฤทธิ์เย็น การกินใบย่านางจึงสามารถช่วยปรับสมดุล บำบัดและบรรเทาอาการอันเกิดจากภาวะความร้อนในร่างกายที่มีมากเกินได้ สมุนไพรชนิดนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้ในการป้องกันโรค ฟื้นฟูสุขภาพของคนในยุคสมัยนี้ ที่ร่างกายร้อนเกินไป จากปัญหาการกินผิดและมีความเครียดสูง จากสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป





เช็กงานวิจัยและการใช้จริง
          เริ่มต้นจากการตรวจสอบงานวิจัยของย่านางกันก่อน เภสัชกรหญิงผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรอธิบายว่า
            “มีงานวิจัยเรื่องย่านาง 4-5 เรื่อง ซึ่งทุกเรื่องเป็นการวิจัยในหลอดทดลอง ทั้งเพื่อหาสารสำคัญที่มีฤทธิ์ลดไข้ ลดการอักเสบ และลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ยังไม่มีการศึกษาในคน จึงไม่สามารถสรุปอะไรได้
            “ส่วนข้อบ่งชี้ว่า ย่านางมีสรรพคุณช่วยล้างพิษนั้น ยังไม่มีการทำงานวิจัยเลย ก็ไม่สามารถยืนยันในเชิงวิทยาศาสตร์ได้เช่นกัน
            แม้จะไม่มีงานวิจัยรับรองอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีผู้นำย่านางไปใช้เพื่อดูแลสุขภาพมาตั้งแต่สมัยโบราณ คุณหมอบุญยืน ผ่องแผ้ว คลินิกหนองบ่งการแพทย์แผนไทย จังหวัดลพบุรี อธิบายว่า
            “ย่านางเป็นไม้เถาขนาดกลาง เถามีความยาวประมาณ 15 เมตร มีรสขม แพทย์แผนไทยใช้รากย่านางเข้าเครื่องยาเบญจโลกวิเชียร’ หรือยาห้าราก มีสรรพคุณช่วยกระทุ้งพิษต่างๆ ถอนพิษยาเบื่อ ลดไข้ แก้ปวดหัว ใบมีสรรพคุณช่วยถอนพิษ ต้านอนุมูลอิสระต่างๆ
            ส่วนประสบการณ์ผู้นำย่านางไปใช้จริงนั้น มีทั้งเกิดผลดีต่อสุขภาพคือ ช่วยลดไข้ แต่ในบางกรณีก็เกิดผลข้างเคียง คุณผกากรองเล่าว่า
            “พบคนไข้คนหนึ่งกินน้ำคั้นใบย่านางติดต่อกันเป็นปี ทำให้มีอาการชาที่มือและเท้า แต่เมื่อให้หยุดกิน อาการชาก็หายเป็นปกติ
            นอกจากนี้คุณผกากรองยังพบคนไข้อีก 10 คน ที่มีอาการเวียนศีรษะ พอซักประวัติก็พบว่า ดื่มน้ำคั้นใบย่านางเป็นประจำและติดต่อเป็นเวลานาน เธอจึงแนะนำให้คนไข้หยุดดื่ม ซึ่งก็ทำให้อาการดังกล่าวค่อยๆ หายไป

เช็กสัญญาณเตือน ป่วยเพราะย่านาง
            คุณผกากรอง แนะนำว่า หากมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ให้หยุดกินย่านางทันที
มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก การขับถ่ายผิดปกติ เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ และหน้ามืดเวลาเปลี่ยนอิริยาบถ ชาตามปลายมือปลายเท้า ซึ่งถ้ามาถึงอาการชา แสดงว่ามีอาการมากแล้ว เป็นสัญญาณเตือนว่าควรหยุดใช้

ใครควรกิน ไม่ควรกิน
            สาเหตุที่การกินย่านางทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพนั้น คุณหมอบุญยืน อธิบายว่า
            ย่านางมีฤทธิ์เย็น การกินย่านางติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จะทำให้ร่างกายเย็น เลือดข้น เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้เกิดอาการมือชา แขนขาชา และปวดศีรษะได้
            โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนธาตุเย็นหรือผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ เลือดจาง และอ่อนเพลียง่าย ต้องระมัดระวังการกินเป็นอย่างมาก เพราะการกินเป็นเวลานานจะยิ่งทำให้เลือดไหลเวียนน้อยลง เลือดจางและอ่อนเพลียมากขึ้น
            ส่วนคนธาตุร้อน กินแล้วมีประโยชน์ เพราะช่วยลดความร้อนในตัวลง ลดความดันโลหิตได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องกินให้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นก็ทำให้เกิดผลเสียเหมือนกัน
            คุณหมอบุญยืนอธิบายวิธีสังเกตลักษณะธาตุในร่างกายว่า
            ธาตุในร่างกายแบ่งตามอุณหภูมิเป็น 2 ธาตุ คือ ร้อนและเย็น คนธาตุร้อนสังเกตง่ายๆว่าจะเป็นคนขี้ร้อน ทนอยู่ในที่อากาศร้อนแม้เพียงเล็กน้อยไม่ได้ มีอาการร้อนในและท้องผูกบ่อย ส่วนคนธาตุเย็นเป็นคนขี้หนาว อยู่ในห้องแอร์หรือถูกลมเย็นๆ ก็จะหนาวมาก ป่วยเป็นหวัดและภูมิแพ้ง่าย

ใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์
            หมอบุญยืนแนะนำวิธีใช้ย่านางดังนี้
-  ดื่มเพื่อล้างพิษ
ใช้ใบย่านาง 3 กำมือ ข้าวสาร 1 กำมือ ล้างใบย่านางและข้าวสารให้สะอาด นำตัวยาทั้งสองชนิดปั่นรวมกับน้ำสะอาดหนึ่งแก้วจนละเอียด กรองด้วยผ้าขาวบาง เอาเฉพาะน้ำคั้น สำหรับคนปกติ ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 1 ครั้ง ส่วนผู้ป่วยและผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ดื่มครั้งละ 1/2 แก้ว วันละ 1 ครั้ง ควรดื่มติดต่อกันทุกวันจนครบ 1 สัปดาห์ แล้วหยุด 1 สัปดาห์ สลับกันไปอย่างนี้
-  ดื่มแก้ไข้
สำหรับย่านางมีสารพฤกษเคมีชนิดละลายน้ำ ดังนั้น ถ้าเรามีไข้ สามารถกินย่านางชนิดสกัด
ด้วยน้ำได้ เพราะจะได้สารสำคัญที่ละลายน้ำออกมาและเป็นการใช้ตามภูมิปัญญาที่มีมานานแล้ว
-  กินเพื่อบำรุงสุขภาพ
ถ้ากินเพื่อสุขภาพ แนะนำให้กินทั้งใบ กินเป็นอาหารจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะจะได้สารแอนติออกซิเดนท์ แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามิน เกลือแร่ และใยอาหาร ไม่ต้องเสี่ยงกับอาการผิดปกติจากการกินน้ำคั้นสกัดเข้มข้นที่อาจทำให้ร่างกายเกิดความเย็นมากเกินไป


ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือชีวจิต ฉบับที่ 347 หน้า 28-30

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น